โครงการ ร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ หมู่บ้านป่าสัก ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

Spread the love
โครงการ ร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ หมู่บ้านป่าสัก ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

สรุปสาระสำคัญ

โครงการนี้ทำประเด็นเรื่องการจัดการขยะ โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการขยะอย่างถูกต้อง ทั้งขยะเปียกและขยะรีไซเคิล โดยมีธนาคารขยะรับซื้อขยะรีไซเคิล และอีกเรื่องคือการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม เพื่อลดขยะในชุมชนโดยมีข้อตกลงเรื่องการจัดการขยะ 10 ข้อ เป็นแนวทาง จากการดำเนินโครงการโดยสภาผู้นำชุมชน 30 คน ทำให้ชุมชนสามารถลดขยะได้จริง และขยะที่เกิดขึ้นมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสม

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1.   มีกิจกรรมและเครื่องมือส่งเสริมการจัดการขยะ ที่สร้างสภาพแวดล้อมให้ประชาชนต้องทำตาม

2.   ธนาคารขยะเพื่อการเรียนรู้การจัดการขยะ ที่ทำให้หน้าที่หลักคือ การให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดการขยะแก่คนในชุมชน

3.   มีคนที่เชี่ยวชาญจัดการขยะจริงคอยให้ความรู้การปฏิบัติที่ถูกต้อง ทั้งกับสมาชิกสภาฯ และชาวบ้าน ทำให้สามารถคัดแยกขยะได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

4.   การจัดการสภาผู้นำชุมชนใหม่ ที่เพิ่งรวมตัวทำงานร่วมกันจริงจังเป็นปีแรก ต้องยืดหยุ่นแต่ชัดเจนในการทำงาน ใน 3 เรื่อง ได้แก่

  • มีกำหนดนัดหมายการประชุมชัดเจน ในวันและเวลาที่ทุกคนสะดวกร่วมกัน และมีกำหนดนัดหมายแน่นอน ปฏิบัติให้ได้จนกลายเป็นปรกติในวิถีของทุกคน
  • มีประเด็นพูดคุยและผลที่หวังจากการพูดคุยแต่ละครั้งที่ชัดเจน และแจ้งให้ทุกคนทราบเพื่อให้มีทิศทางการพูดคุยและการสรุปผลที่ตรงกับความตั้งใจ
  • มีการจัดการที่โปร่งใส โดยเฉพาะการเงิน ที่ต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงินทุกครั้งในการประชุมสภาฯ ซึ่งทำให้สมาชิกสภาฯ สามารถใช้ศักยภาพสนับสนุนการทำงานได้เต็มที่ และได้รับการยอมรับนับถือจากชุมชนมากขึ้น

5.   องค์ประกอบของศักยภาพของคณะทำงานที่ควรมี

  • มีคนที่เป็นสำคัญของกลุ่ม/องค์กรในชุมชน
  • มีความเชี่ยวชาญในประเด็นงานที่โครงการทำ
  • สามารถประสานการสนับสนุนจากหน่วยงานได้

6. การผลิตอุปกรณ์เพื่อจัดการขยะ จากเสวียนไม้ไผ่ ที่โครงการฯ ชวนให้ชุมชนร่วมกันผลิตขึ้นมาใช้เอง และมีผู้ร่วมทำถึง 110 ครัวเรือน แสดงให้เห็นคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่สำคัญของอุปกรณ์จัดการขยะคือ (1) ต้องเป็นของที่ชาวบ้านทำกันเองได้ ไม่ยาก เสียก็ซ่อมแซมเองได้ อยู่ในวิถีชุมชน (2) ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่สิ้นเปลืองเงินซื้อหา (3) เหมาะสมกับประเภทขยะที่ต้องจัดเก็บและการใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรณีการกระติบข้าวแทนถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม ก็มีคุณสมบัติคล้ายกันกับเสวียน

7.   การจัดการร้านค้าศูนย์บาท แม้ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน แต่ก็เห็นถึงแนวคิดและแนวทางที่ดี คือ เพิ่มทางเลือกให้กับคนที่นำขยะมาขายที่สามารถเลือกออมเป็นเงินหรือนำมาซื้อเป็นของใช้กลับไป (ซึ่งเห็นประโยชน์ในทันที) อาจดำเนินการได้ใน 2 รูปแบบ คือ

  • เปิดร้านค้าทุกสัปดาห์ กำหนดตัวผู้รับผิดชอบทุกสัปดาห์ที่ชัดเจน ซึ่งอาจหากิจกรรมอื่นๆ เสริมความรู้เรื่องการจัดการขยะ หรือเรื่องอื่นๆ ที่ชุมชนสนใจ โดยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาให้ความรู้ในวันเปิดร้าน เพื่อกระตุ้นความสนใจของชุมชนมาซื้อสินค้าในร้านศูนย์บาทด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องคิดถึงวิธีการจัดเก็บและจัดการสต็อกสินค้า และการทำบัญชีสินค้า และบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อไม่ให้มีสินค้าเก่า หรือคงค้างมาก มีปัญหากับเงินหมุนเวียน แต่ก็ต้องไม่มีสินค้าน้อยจนตอบสนองสมาชิกธนาคารไม่ได้ รวมถึงผู้รับผิดชอบการซื้อสินค้าเข้าและขายสินค้าออก และคนทำบัญชีต่างๆ ด้วย

  • ทำข้อตกลงกับร้านค้าในชุมชน ให้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าให้กับสมาชิกธนาคารได้ โดยเรียกเก็บเงินจากธนาคารทุกสัปดาห์แทน ซึ่งสมาชิกสามารถใช้บัญชีขายขยะ มาแลกซื้อและลงบัญชีกับร้านไว้ ตามจำนวนเงินที่สามารถซื้อได้

วิธีนี้ก็จะจัดการปัญหาเรื่องผู้รับผิดชอบ การหาสินค้าและการขาย รวมถึงและการทำบัญชีสินค้าและรายรับรายจ่ายไป แต่ต้องมีผู้รับผิดชอบในการจัดการเงินคืนให้กับร้านค้าทุกสัปดาห์แทน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ