วัฒนธรรม+การอ่าน เทคนิควิธีการที่ไม่ลอง จะรู้ได้อย่างไร

Spread the love

วัฒนธรรม+การอ่าน เทคนิควิธีการที่ไม่ลอง จะรู้ได้อย่างไร

เขียน  ปานตะวัน  เมืองบัณฑิต

เราจะส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นวัฒนธรรมได้อย่างไร

“วัฒนธรรมการอ่าน ”

คำๆ นี้ หากแยกคำออกจากกัน จะเป็น คำว่า ‘ วัฒนธรรม’ และ ‘การอ่าน’

น่าสนใจที่ว่า การส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งพยายามตีโจทย์ในข้อนี้ ลองผิด ลองถูก จนเกิดการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมที่ยังเข้มแข็ง เข้มข้น เข้ามาผสมผสานให้การส่งเสริมการอ่านกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เป็นเรื่องของทุกเพศ ทุกวัย ดังเช่นที่จังหวัดกระบี่

สานพลังวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างวัฒนธรรมการอ่าน

ที่จังหวัดกระบี่ การส่งเสริมการอ่านเป็นไปอย่างน่าสนใจและมีแต่เสียงหัวเราะ   เมื่อกลุ่มละครมาหยา โดยโครงการเกาะแห่งการอ่าน ได้นำ หนังตะลุง ศิลปะ การละเล่นท้องถิ่นที่เข้มแข็งและได้รับความนิยม เข้ามาร่วมรณรงค์ ส่งเสริมกระตุ้น การบริจาคหนังสือ

นายปิยะพัทย์ รักนุกูล หรือ ตุลย์ อายุ 22 ปี  ผู้ก่อตั้งคณะหนังตุลา อันดามันกล่าวว่า  เขาประทับใจหนังตะลุงตั้งแต่ครั้งที่ปู่ซื้อหุ่นหนังตะลุงมาให้เป็นของเล่นเมื่ออายุ 3-4 ขวบ  และแม้จะมีปู่เป็นผู้สร้างโรงหนังตะลุง แต่กว่าที่เขาจะเริ่มฝึกฝนเป็นนายหนังตะลุงก็ต่อเมื่ออายุราว 16-17 ปี

“ตอน อายุ 16-17 ผมเริ่มฝึกชักหุ่นโดยใช้เสียงจากเทปก่อน คือเปิดเทปและฟังว่าตัวไหน แล้วก็เล่นตาม ต่อมาก็เล่นเป็นทอคโชว์เองตั้งแต่ ปี 2556  จนถึงปัจจุบัน คือคิดว่าใช้เสียงตัวเองพากย์ มันจะเป็นศิลปะมากกว่าครับ ”

  

เส้นทางการเป็นนายหนังตะลุงของตุลย์ ไม่ใช่เพียงเสียงพากษ์ที่ต้องมีความสมจริงในการเล่นเป็นตัวละครตัวต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่นายหนังตะลุงจะต้องสั่งสมไปตลอดวิชาชีพ ตลอดชีวิตคือ การเสาะหาความรู้ เรียนรู้สารพัดความรู้ ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน เพื่อเก็บเล็กผสมน้อยและนำมาใช้ในการพากษ์ การร้อง การแต่งบทสนทนาที่ต้องรู้จริง เหมือนจริง ไม่มีพลาด

“ คือพอไปเล่นที่ไหน มุขตลกของเรา ก็ควรจะสอดคล้องใกล้เคียงกับบริบทของที่นั้น คนตรงนั้นเขาจึงจะสนุกสนานไปกับเรา  เช่น ไปเล่นที่ทะเลก็ต้องเล่าเรื่องมะพร้าว กุ้ง หอย ปู ปลา  แต่เราจะเล่าอย่างไร  ผมก็อาศัยอ่านจากข่าวว่า ตอนนี้เขามีเรื่องอะไร ดูทีวี อ่านหนังสือ คนเล่าอะไรก็ฟังๆ ค่อยๆ เก็บ แล้วเราจะมีเรื่องที่อยากจะเล่า ผมจึงไม่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็น คือ พรสวรรค์  แต่เป็นพรแสวง คือเราอาศัยครูพักลักจำ จากนายหนังคนอื่นๆ แล้วตัวความรู้เราก็เปิดรับตลอด แล้วก็อาศัยฝึกฝนครับ สำคัญที่สุด”

ตุลย์กล่าวว่า เขารู้สึกภูมิใจที่ได้สืบทอดการละเล่นหนังตะลุง  เพราะเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่สวยงาม มีมายาวนานแล้วกว่าพันปี  เป็นการผสมผสานคุณค่าของศิลปะหลากหลายด้าน เมื่อได้ออกไปเล่นตามงานต่างๆ  แล้วมีเยาวชนสนใจเข้ามาสอบถาม ว่าหากอยากฝึกฝนบ้างจะต้องทำอย่างไร ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาตลอดมา

“ ผมมองว่าการรักษาวัฒนธรรม คือการรักษาชาติ อย่างหวงวิชา ที่ภาคใต้ มีเด็กรุ่นใหม่ เกิดขึ้นเยอะมาก และเยาวชนเริ่มสนใจมากขึ้น วัฒนธรรมเราแข็งแรง ชาติเราก็เข้มแข็ง ยิ่งเราทำงานวัฒนธรรมให้เป็นอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ เราจะยิ่งภูมิใจครับ”

สิ่งสำคัญที่ได้เผยแพร่ สืบทอดการละเล่นหนังตะลุงแล้ว ทุกครั้งที่ได้ร่วมกับโครงการเกาะแห่งการอ่านศรีบอยา เพื่อระดมการบริจาคหนังสือไปยังพื้นที่ห่างไกล เขาจะยิ่งรู้สึกประทับใจ

“  คือการอ่านมันสำคัญครับ ตอนนี้สื่อเยอะมาก ก็ยิ่งต้องเลือกว่า เราจะรับรู้อะไร อันนี้คือประสบการณ์ตรงด้วยที่ผมต้องเรียนรู้ตลอดเวลา  แต่เด็ก เยาวชนบ้านเรากำลังอ่านหนังสือกันน้อยลง ผมเลยดีใจครับที่หนังตะลุงได้เข้ามาเป็นสื่อ แล้วคนมาบริจาคเขาก็ได้สนุกสนาน มีรอยยิ้ม ได้รู้จักหนังตะลุงด้วยครับ”

“  โอว กระแสดังล่ะทางสังคม  โอว กระแสทางสังคม มันอยู่ในยุคสังคมก้มหน้า   มันอยู่ในยุคนิยมก้มหน้า  ยุคสังคมยุคใหม่  ว่าเอ หว่า เอ ล่ะภิวัฒน์  มันไร้ขีดจำกัด เราจึงมาทายทักกับพี่น้อง มาเราจะเล่าเรื่องการอ่านยกกำลังสุข  รับรองว่าจะสนุก สนาน  เราเป็นตัวแทนของทีมงานที่เอานิทานไปแจกจ่าย สู่ชุมชน พร้อมเดินทาง บริจาคหนังสือดี ทุกแห่งหน แต่ละปี มีกิจกรรมทำเวียนวน 

เรารวมพลสานพลังทางชีวิต มาเราทีมกลุ่มละครมาหยา    พร้อมจะสร้างความหรรษามาผลิต   ด้วยแบบ บทบาทที่เป็นมิตร  พร้อมทำจิตอาสา คืนถิ่นอันดามัน

หลังจากให้สัมภาษณ์กับเราเสร็จ เขาก็หันไปขับร้องเพลงและเล่นหนังตะลุง  เพื่อให้ผู้ชมได้มาร่วมบริจาคหนังสือต่อ …

นอกจากพื้นที่ โครงการเกาะแห่งการอ่าน ศรีบอยา จังหวัดกระบี่ แล้ว ปัจจุบัน การรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นในที่อื่นๆ ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ สร้างความคึกคัก สนุกสนานให้กับแวดวงการส่งเสริมการอ่าน และทำให้ผู้คนทุก เพศ ทุกวัย สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เช่น ลิเก กันตรึม หรือแม้แต่การชวนกันปั่นจักรยานเพื่อระดมหนังสือ ซึ่งได้ปรากฏเห็นแล้วว่า สามารถระดมหนังสือสู่ห้องสมุดชุมชน  นำพาหนังสือไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนสื่ออ่านได้เป็นจำนวนมาก

 

  

 

ในทางวิชาการ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านด้วยแนวทางผสมผสานเข้ากับความรุ่มรวยของวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้ ไม่เพียงจุดกระแสให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องการอ่านเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ยังเป็นการลองผิด ลองถูกเพื่อค้นพบวิธีการส่งเสริมการอ่านที่เหมาะสมและเห็นผลในบริบทของพื้นที่นั้นๆ จาก  ผลการศึกษาวิจัย เรื่อง “ ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน ” โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ เมื่อปี 2556  ที่ได้ค้นพบไว้อย่างชัดเจนว่า กิจกรรมการส่งเสริมการอ่านจะต้องเป็นไปในลักษณะไม่เป็นทางการ มากกว่าทางการ นอกจากนี้ยังต้องเป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยบริบท โครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมเข้ามาช่วย เพื่อให้กิจกรรมแนบเนียน เป็นความสนุกสนานไปเองอย่างไม่รู้ตัว

และนี่อาจจะคลายข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดหลายสิบปีที่เรามุ่งเน้นส่งเสริมการอ่านในสถาบันการศึกษาแต่เรายังเผชิญกับวิกฤติของการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กไทย

เราอาจต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆ กระบวนการใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์เพลิดเพลิน เจริญใจ เหมาะสมกับช่วงวัยและบริบท วิถีชุมชน เพื่อให้การอ่าน เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นการเรียนรู้ที่พร้อมจะหยั่งราก เติบโต อย่างเป็นธรรมชาติต่อไป

 

 

อ่านข้อมูล แนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นเพิ่มเติมได้ที่

http://www.happyreading.in.th/bookreview/index.php?t=happyreadingmag

วารสารอ่านสร้างสุข เล่ม 23 ถอดพลังความคิด สร้างชุมชนการอ่าน

วารสารอ่านสร้างสุข ฉบับ 24 เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

และ Page Facebook :  อ่านยกกำลังสุข / SMARTReadingthailand

Shares:
QR Code :
QR Code