ครบรอบ 2 ปี หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ชวนอ่าน ‘1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์’

Spread the love

ครบรอบ 2 ปี หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ชวนอ่าน 1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ครบรอบวาระ  2 ปี ของการเปิดบริการ หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร

หอสมุดเมืองนับเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งแรกและแห่งเดียวที่จัดวางอยู่บนพื้นที่เอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร นับแต่สถานที่ตั้งที่แวดล้อมด้วยสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ภูเขาทอง ฯ ลฯ สถาปัตยกรรมของหอสมุดเมืองยังผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตก  ศิลปะไทยคงกลิ่นอายของอาคารชุดเก่าดั้งเดิม ทำให้เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ตลอด

นายชัชกูล รัตนวิบูลย์ ที่ปรึกษาหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการ ทางหอสมุดเมืองได้ปรับปรุง สร้างสรรค์กิจกรรมที่ครอบคลุมความสนใจของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอายุมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังขยายสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชน เพื่อพัฒนามุมกิจกรรม พื้นที่ส่งเสริมการอ่านภายในหอสมุดอย่างต่อเนื่อง

“ความเฉพาะของหอสมุดเมืองคือ พื้นที่ชั้น 3 จะจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวสำคัญ ๆ ที่สะท้อนความเป็นหอสมุดเมือง ประเพณีของไทย เช่น ประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานคร พิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนอกจากนิทรรศการแล้วยังจัดให้มีการจัดบรรยาย เชิญผู้เชี่ยวชาญมาเติมเต็มความรู้สำหรับผู้ที่สนใจให้มากยิ่งขึ้น เป็นความรู้ลุ่มลึกที่จะช่วยกระตุ้นการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ เอกสารเก่าต่างๆ ที่การอ่านออนไลน์ยังไม่สามารถทำได้”

“กลุ่มที่มาใช้บริการเยอะคือผู้สูงอายุ ซึ่งเราภูมิใจที่สามารถตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยได้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่รับใช้ประชาชนทุกช่วงวัย”

หอสมุดเมืองยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญของการที่กรุงเทพมหานคร ได้รับประกาศให้เป็น เมืองหนังสือโลก

1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์หนังสือสำหรับคนทุกวัย

เพื่อสร้างเสริมรากฐานการอ่านให้มั่นคงหนักแน่น แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ  คุณชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติและคณะได้ดำเนินโครงการเชิญชวนเยาวชนไทยอ่านวรรณกรรมไทย   วรรณกรรมโลก: 1,009 เล่ม โดยได้คัดสรรหนังสือดี เหมาะสมกับช่วงวัย 12-18 ปี และรวบรวมจัดทำบรรณนิทัศน์ แนะนำหนังสือรวมเล่มในชื่อ ‘1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์’

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 คุณชมัยภรและคณะทำงานได้ล้อมวงสนทนา‘ชวนอ่านวรรณกรรม 1,009 เรื่องเร้าพลังแห่งการเรียนรู้’ และอบรม     ’เปิดโลกการอ่านด้วยนิทานและวรรณกรรม’แก่นักเรียนจาก 7 โรงเรียน เช่น  โรงเรียนพิมานวิทย์ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนประชานุกูล ฯลฯ

 “การรวมรวม วรรณกรรม 1,009 เล่มฯ เราคณะทำงานทั้ง 4 คนคือ ปิยลักษณ์ ตันติศรีสกุล ธีระ หนูทอง และวนิดา คุ้มอนุวงศ์ ไม่ได้คัดเลือกหนังสือเอง แต่ได้ประสานนักวิชาการ นักเขียน นักอ่าน  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงาน ฯ เราเปิดให้เยาวชนเข้ามาแนะนำหนังสือด้วย  มีการจัดประชุมเสนอรายชื่อหนังสือประกอบเหตุผลทุกเล่มว่าดีงามอย่างไร ข้อมูลนี้คณะทำงานเก็บรวบรวมไว้หมดและนำมาเขียนเรียบเรียง เพื่อตอกย้ำคุณค่าเฉพาะของหนังสือแต่ละทุกเล่ม”

“การเขียนบรรณนิทัศน์ ใช้ภาษาที่กระชับ ชัดเจน เห็นแก่นหัวใจของหนังสือว่าเป็นประเภทและเรื่องอะไร และสำคัญอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักหนังสือแต่ละเล่มจริงๆ ซึ่งจะช่วยเร้ากระตุ้นความสนใจให้อยากอ่านมากยิ่งขึ้น” อาจารย์ชมัยภรกล่าว พร้อมกับเปิดหนังสืออ่านเป็นตัวอย่าง

วารีดุริยางค์เป็นบทกวีฉันทลักษณ์ (กลอนสุภาพ) สะท้อนภาพความงามของธรรมชาติอย่างมีรายละเอียด เห็นเป็นภาพ ประณีตต่อความรู้สึก และให้สีสันงดงามจรรโลงใจ อันจะนำไปสู่ความสงบเย็นในจิตใจในที่สุด กวีมีความสามารถสูงในการเลือกสรรคำ ภาพ เสียง ประกอบขึ้นเป็นสำนวนโวหาร อ่านแล้วประทับใจ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาธิการ

 

ปิยลักษณ์ ตันติศรีสกุล คณะทำงานกล่าวเพิ่มเติมว่า หลายบุคคล หลายหน่วยงานได้เข้ามาแนะนำหนังสือ ในเบื้องต้นจึงได้รายชื่อหนังสือกว่า 2,000 เล่ม หลังจากนั้นจึงคัดอีกจนเหลือ 1,009 เล่ม

 

“ตอนทำ 1,009 เล่ม วรรณกรรมฯ รู้สึกตลอดว่า เล่มนี้น่าสนุกจังเลย เล่มนี้เรายังไม่เคยอ่าน เราไปหามาอ่านดีกว่า ก็ได้ประโยชน์กับตัวเองด้วย”

 

ธีร หนูทอง  หนึ่งในคณะทำงานกล่าวเสริมว่า การได้เขียนบรรณนิทัศน์ในหมวดเรื่องสั้นและสารคดี ทำให้คิดถึงบรรยากาศการอ่านหนังสือกันอย่างคึกคักเพราะได้รู้จักและได้กลับไปอ่านหนังสือดีๆ จากทุกยุคสมัยอีกครั้ง

ผมชอบอ่านหนังสือมากอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีหนังสือหลายเล่มที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน  แต่ได้รับการแนะนำจากในแบบสอบถามของนักวิชาการ บรรณนิทัศน์ 1,009 เล่มฯ เล่มนี้จึงไม่เพียงให้ประโยชน์กับผู้อ่าน แต่คนที่ทำงานก็ได้ประโยชน์มาก ผมได้รู้จักหนังสืออีกมากมายที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา เช่น เรื่องสั้นแปล ของไอแซค อสิมอฟ ผลงานเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์  การได้อ่าน 1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์ผมยืนยันว่านอกจากเราจะได้รู้จักหนังสือดีๆ เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถแนะนำหนังสือดีๆ ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย”

สุดใจ พรหมเกิด  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.กล่าวไว้ในส่วน คุยเปิดเล่ม ของหนังสือ 1,009 เล่มฯ   ถึงความตั้งใจของแผนงานฯ ว่า

เราพบว่า พลังของวรรณกรรมทำให้สมองของมนุษย์มีความสุข มีความหวัง และนำสู่พลังของชีวิต สอดคล้องกับงานวิจัยหลายสำนักที่ชี้ให้เห็นว่า การบ่มเพาะ  การสร้างต้นธารความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ (Empathy) ความฉลาดทางอารมณ์ ฯลฯ เกิดขึ้นได้เพราะหนังสือวรรณกรรม

 

1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์ได้รวบรวมหนังสือ 8 ประเภท คือ กวีนิพนธ์ไทย 155 เล่ม กวีนิพนธ์แปล 8 เล่ม สารคดีไทย 109 เล่ม สารคดีแปล 20 เล่ม เรื่องสั้นไทย 143 เล่ม เรื่องสั้นแปล 14 เล่ม นวนิยายไทย 336 เล่ม นวนิยายแปล 225 เล่มนอกจากนั้นผู้อ่านยังจะได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์นักเขียน ศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย เช่น พนมเทียน สุกัญญา ชลศึกษ์  สุชาติ สวัสดิ์ศรี      ศุ บุญเลี้ยง ฯลฯ อย่างจุใจในท้ายเล่ม

หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร เชิญชวนนักอ่านได้มาใช้ช่วงเวลาเพลิดเพลินกับการอ่านจาก 1,009 เล่ม วรรณกรรมฯ ที่ได้แนะนำไว้ รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ อีกมากมาย

หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการ อังคาร – เสาร์  08.00-21.00 น. และอาทิตย์ 09.00-20.00 น. ปิดบริการวันจันทร์

หน่วยงาน หรือ ห้องสมุดสนใจหนังสือ1,009 เล่ม วรรณกรรมเกื้อกูลโลก เกื้อกูลมนุษย์  สามารถเปิดอ่านแบบออนไลน์ได้ที่ http://www.happyreading.in.th/bookreview/detail.php?id=500

 

  

  

  

  

  

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ