มิติใหม่ แพทย์จ่ายหนังสือแทนยาบำบัดอาการซึมเศร้า! บทบาทสำคัญของห้องสมุดชุมชนเพื่อสร้างสุขภาวะ

Spread the love

โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่กำลังคร่าชีวิตผู้คน เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย หลายต่อหลายกรณี ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย กว่าจะรู้ก็ถึงขั้นรุนแรง เกินควบคุม ส่งผลให้ตัดสินใจจบชีวิตลงแล้วหลายต่อหลายราย

ปี 2561 กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้า ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 1.5 ล้านคน ข้อมูลนี้ยังไม่นับรวม กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าเด็กที่อายุ ต่ำกว่า  15 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาเก็บข้อมูลตั้งแต่อายุ 3-17 ปี พบผลที่น่าตกใจว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1 ใน 5 ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตใจ สภาวะอารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า (Depression)

ย้ำอีกครั้งว่า ภาวะซึมเศร้า (Depression)พบได้ในเด็กที่อายุ เพียง 3 ขวบ

สภาวะแพร่ระบาดของโรคซึมเศร้าทั่วโลกขณะนี้ องค์กรอนามัยโลก หรือ  WHOพบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านคน การฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 2 ของช่วงวัย 15-29 ปี

ในทางการแพทย์ ให้คำอธิบายว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล อันส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม การเยียวยารักษาวิธีหลักจึงเป็นการใช้ยาต้านเศร้าเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้กลับมาเป็นปกติ

ปัจจุบันแม้ตัวยาได้รับการพัฒนาไปมาก แต่การใช้ยายังส่งผลข้างเคียงต่อชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความพยายามมาอย่างยาวนาน เพื่อหาวิถีทางใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วย และข้อค้นพบที่สามารถให้ผลอย่างชัดเจนได้วิธีหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าระดับต้นถึงปานกลางก็คือ “การอ่านหนังสือ”

 

หนังสือ ยาทางเลือก และยาเสริมกำลังบำบัดโรคซึมเศร้า

การอ่านทำงานอย่างไรต่อสมองของเรา เหตุใดจึงก่อให้เกิดความสุข ความตื่นตัว จนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งร่ายกายและจิตใจ

ปี 2011 Shira Gabriel และ Ariana F.Young นักวิจัยจาก University at Buffalo, state University of New York เผยถึงการทดลองจากการให้อาสาสมัครอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องพบว่า  การอ่านทำให้มนุษย์มีความสุข ปิติและพึงพอใจ เพราะสามารถเชื่อมมนุษย์เข้ากับสิ่งต่างๆ  เป็นการจำลองปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ทำให้รู้สึก ทุกข์ สุข เศร้า สมหวังได้จริง ๆ เหตุนี้เอง การอ่านจึงทำให้มีชีวิตชีวา หรือตื่นจากความสลืมสลือขึ้นมาอีกครั้ง

“ ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสังคม คือความต้องการของมนุษย์ที่เข้มข้น  เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ เราจะรู้สึกดีกับเรื่องทั่วๆ ไป และยิ่งจะรู้สึกดีกับชีวิตของตัวเอง” นักวิจัยทั้งสองกล่าว ถึงข้อสรุปของผลการศึกษาวิจัย

การอ่านทำให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่น พลังของเรื่องราวทำให้เราจินตนาการ เห็นคุณค่าของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องของตัวเราอย่างสัมผัสได้ นี่คือผลชัดเจนที่ได้จากอ่านหนังสือประเภท “วรรณกรรม”

วรรณกรรมประเภทไมใช่นิยาย (non- fiction) ทั้งหนังสือความรู้ สารคดี  ก็ให้ผลเชิงบวกเช่นกันข้อพิสูจน์นี้ชัดเจน ในปี 2003 กรณีของ นายแพทย์  นีล ฟรูด์ (Neil Frude)   จิตแพทย์คลินิกชื่อดัง แห่งประเทศอังกฤษ ที่พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่คลินิกมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้ต้องรอรับบริการยาวนาน และเมื่อถึงกำหนดพบแพทย์แล้ว ก็ยังต้องมารออยู่หน้าห้องเป็นเวลาอีกหลายชั่วโมง สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยยิ่งมีความเครียด และอาการแย่ลง “ต้องมีวิธีการที่มีพลังที่จะบำบัดผู้คนได้มากกว่านี้ ไม่ใช่แบบ 1 ต่อ 1 อย่างนี้”นายแพทย์ นีล ฟรูด์ (Neil Frude) เริ่มหาทางออก

“หนังสือสามารถเป็นคู่มือการดูแลตัวเอง ที่บอกทุกอย่างกับผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนสามารถปฏิบัติตามได้ ไม่ต่างจากหนังสือ คู่มือการทำอาหาร ผมเชื่อในพลังของหนังสือที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ  นักจิตวิทยาคลินิก เขียนจากประสบการณ์และงานวิจัยจำนวนมาก ” เขายังกล่าวอีกว่า การทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง เริ่มด้วยการสื่อสารกับ จิตแพทย์ จิตวิทยาคลินิกก่อน เลือกสรรหนังสือที่มีความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และส่งไปยังห้องสมุดต่างๆ เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยา แทนที่ผู้ป่วยจะไปหาเภสัชกร กลับเดินเข้าห้องสมุด ใช้ใบสั่งหยิบหนังสือเล่มที่ช่วยให้เขา กลับไปเรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และฟื้นฟูชีวิตได้

“นี่เป็นวิธีการที่ลงทุนน้อย เรียบง่าย แต่มีพลังมาก มีประสิทธิภาพมาก”

โครงการ Book Prescriptionเริ่มขึ้นในตัวเมือง Cardiff ที่รัฐ Wales ในปี 2003  ด้วยความร่วมมือของ จิตแพทย์และบรรณารักษ์ แล้วโครงการเล็กๆ นี้สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงและได้รับประโยชน์อย่างมาก พวกเขาต่างบอกต่อๆ กันว่า วิธีการนี้สามารถช่วยพวกเขาได้จริงๆ ในปี 2005 โครงการนี้เข้าตารัฐบาล ทำให้ขยายโครงการใหญ่ขึ้นด้วยการยกระดับให้ความสำคัญจนเป็นงานระดับชาติ เรียกว่า โครงการ Book PrescriptionWales ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบัน รัฐบาลจัดซื้อหนังสือที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 รายการ และจัดสรรไปยังห้องสมุดตามจุดต่างๆ  นายแพทย์นีล กล่าวว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ผู้คนจำนวนมาก แม้จะไม่ทุกคน พวกเขาไปได้ด้วยดีกับแนวคิด การบำบัดด้วยหนังสือ (BiblioTherapy) พวกเขาได้เรียนรู้ลงไปถึงอาการต่างๆ ของตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง และรู้ที่จะเยียวยารักษาเมื่อมีอาการวิตกกังวล” นายแพทย์คนดังยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหนักขึ้นอย่างเงียบๆ การวินิจฉัยทุก 6 คน จะพบผู้ป่วยซึมเศร้า 1 ราย และเมื่อติดตามไปตลอดช่วงอายุ อาจเป็น  1 ใน 4 หรือ 3 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบที่จะดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับผลเสีย ก็จะเป็นผู้ป่วยเอง

โวฮาน เกทติ้ง (Vaughan Gething)  เลขาธิการด้านงานสุขภาพของรัฐบาลเวล์ กล่าวว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการจากห้องสมุดตามจุดๆ ต่างๆ ได้แล้วถึง 778,000 คน อย่างง่ายดาย “ฉันเชื่อว่า การเข้าไปช่วยเหลือในครั้งนี้จะสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่”

The Reading Agencyองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการนี้ ไม่ได้หยุดโครงการดีๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ แต่ได้ต่อยอดขยายโครงการให้ไปถึงผู้คนกลุ่มเฉพาะมากขึ้น ในปี 2013   ได้เปิดโครงการคัดเลือกหนังสือเพื่อสร้างสุขภาวะกับกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก กล่าวคือ เพียง 2 ปี มีผู้ยืมหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 97%  แต่ทว่าผู้ป่วยก็มีมากขึ้น 346 %  ในปี 2015 จึงขยายโครงการเข้าไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันและบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ให้สั่งสมจนถึงวัยทำงาน เรียกว่า โครงการ อ่านอย่างสุขภาวะเพื่อคนรุ่นใหม่ (The Reading Well for Young People campaign)  ที่คัดเลือกหนังสือโดย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและเยาวชน โดยหนังสือที่คัดเลือกมีทั้ง  บันทึกคู่มือการดูแลตัวเอง  สารคดี นวนิยาย  และแน่นอนว่า หนังสือในรายการนี้จะสามารถหยิบยืมมาอ่านได้โดยทั่วไปในห้องสมุด ตามจุดต่างๆ

The Reading Agency   กล่าวว่า เยาวชนของอังกฤษมีความเสี่ยงสูงที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการซึมเศร้า พวกเขามีปัจจัยเสี่ยงมากมายไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งจากความกดดันจากการเรียน การสอบ การถูกยั่วยุ เหยียดหยามในโรงเรียน  ปัจจุบันเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้าสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 30 ปี มีเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นที่ได้รับการดูแล รักษาในโรงพยาบาล

จูโน่ ดอร์สัน (Juno Dawson)นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน และสารคดีเยาวชน กล่าวว่า  “เราต่างยอมรับว่า การดูแลด้านจิตเวช ยังไม่ดีพอ แต่ละเคสอาจต้องใช้เวลารอนัดหมอถึง 6 เดือน เพื่อที่จะเข้าไปรักษาอาการรับประทานอาหารผิดปกติ ขณะที่ต้องเจอกับอาการนี้ทุกวันๆ ฉันจึงเปี่ยมด้วยความหวังว่าหนังสือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเอง และบรรเทาอาการของตัวเองได้”

          เกบี้ เคย์แมน (Gaby Clement) หนึ่ง ใน หก ของเยาวชนที่ร่วมคัดเลือกหนังสือของโครงการฯ  เล่าว่า “ผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้โดยง่ายตามจุดต่างๆ ผมคิดว่า นวนิยาย หรือหนังสือใดๆ ก็ตาม ทำงานได้ดีกับเยาวชน  เรื่องราวในหลายๆ  เรื่อง ช่วยให้เรารับมือกับสิ่งที่เราต้องข้ามไปให้ได้ มันสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ  เหมือนเป็นวิธีการที่เราจะได้รับคำแนะนำ โดยที่ไม่ต้องบอก ว่าเราต้องทำอะไร”

        เอ็มบอท  (Emybot)เยาวชนที่ผ่านวิกฤตในชีวิต ให้สัมภาษณ์กับ The guardian สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษถึงหนังสือเล่มสำคัญที่ช่วยชีวิตเขาไว้ ซึ่งเป็นหนังสือที่อยู่ในลิสต์รายชื่อของโครงการ  the Reading Well for Young People Campaignว่า “เล่มที่ผมจะแนะนำให้กับทุกคนที่กำลังรู้สึกแย่ คือ เรื่อง  The Perks of Being a Wallflower(จดหมายรักจากนายไม้ประดับ)  นี่คือหนังสือเล่มโปรดของผม มันไม่ใช่แค่ความสุข หรือความเศร้าเสียทีเดียว หลากหลายความรู้สึกที่สัมผัส ไม่เพียงทำให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ สามารถตกดิ่งลงไปและแตกสลายได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังบอกอีกว่า สิ่งที่แตกสลาย ต่างสามารถฟื้นกลับคืนมาได้ ผมรักเล่มนี้และแนะนำให้กับผู้คนเสมอๆ ”

         เอ็ด เวซีย์ (Ed Vaizey)  รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของอังกฤษกล่าวว่า  “ห้องสมุดสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยบริการสุขภาวะในท้องถิ่น  ด้วยการเปิดให้เข้าถึงได้โดยง่าย ให้ข้อมูลกับทุกกลุ่มอายุ  สร้างเสริมการอ่านให้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนให้สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์และความเป็นอยู่ เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกดดันของชีวิตในสังคมปัจจุบัน”

ปัจจุบัน The Reading Agencyดำเนินโครงการเพื่อพาหนังสือเข้าไปช่วยเหลือบำบัดผู้คนอีกหลายโครงการ พร้อมกับที่หลายหน่วยงานของอังกฤษ ยังใช้หนังสือทำกิจกรรม กับผู้ต้องขังตามทัณฑสถาน เด็กพิการ เด็กกำพร้า ผู้ติดยาเสพติด  ซึ่งไม่เพียงทำให้พวกเขาได้อยู่กับหนังสืออย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ยังพัฒนาผู้คนเหล่านี้จนกลายเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้ผู้อื่นฟัง

กลับไปที่ นายแพทย์  Neil Frude  อีกครั้ง การเริ่มต้นของเขาส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดตามมาครั้งยิ่งใหญ่ และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างมากมาย แต่ถึงกระนั้นเขากล่าวอย่างถ่อมตัวว่า

“ผมคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรใหม่  หนังสือมีอยู่แล้ว  ห้องสมุดมีอยู่แล้ว  สิ่งเหล่านี้มีอยู่มานานแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เราทำคือ เพียงเรามาร่วมมือกัน”

เพราะหนังสือก็มีอยู่แล้ว

ห้องสมุดก็มีอยู่แล้ว

เชื่อว่า สิ่งดีๆ ก็สามารถเกิดขึ้นในบ้านเราได้เช่นกัน 

เพียงร่วมกัน ส่งต่อสารสำคัญนี้       

ปิดเทอมนี้ ชวนเด็กๆ และครอบครัวไปห้องสมุด ไปสัมผัสหนังสือกันค่ะ      

          

ลลิ จิตตสิงห์

 

อ่านประโยชน์ของหนังสือเพิ่มเติมได้ที่ :

วารสารอ่านสร้างสุข ฉบับ 13  ปลุกหัวใจหมอ ด้วยวรรณกรรม เรื่องเล่า  , ฉบับ 17  บทกวีกลางดวงใจ  และ ฉบับ 21 การอ่านมหัศจรรย์แห่งสุขภาพ-สุขชีวิต

http://www.happyreading.in.th/bookreview/index.php?t=happyreadingmag

ข้อมูลประกอบการเขียน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ