พลังเยาวชน “เดิ่นดอนยิ้ม” สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน

Spread the love
พลังเยาวชน “เดิ่นดอนยิ้ม” สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน

พลังเยาวชน “เดิ่นดอนยิ้ม” สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน

สร้างอัตลักษณ์ชุมชน “ขนมหูช้าง” ของดีเมืองปักธงชัย

การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญ อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกชุมชนเป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักให้ความสำคัญ เพราะเป็นผลงานทางรูปธรรมที่มองเห็นได้ชัด จนทำให้ละเลยเรื่องของการพัฒนาคนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาท้องถิ่น

แต่ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลดอน(อบต.ดอน) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กลับมองเห็นแนวทางการพัฒนาในทิศทางแตกต่างออกไป เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการจัดทำโครงการ “เดิ่นดอนยิ้ม” โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ที่จัดกิจกรรมและดำเนินงานด้านการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้สามารถดูแลตนเองและสังคมได้คอยเป็นพี่เลี้ยง

สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนของตำบลดอน เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่ในระยะแรกกิจกรรมยังไม่มีความชัดเจนนัก ต่อเมื่อมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน ตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กแห่งชาติ งานของสภาเด็กและเยาวชนของตำบลดอนก็เริ่มชัดเจนขึ้น มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กคิดและลงมือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ผ่าน โครงการเดิ่นดอนยิ้ม ซึ่งคำว่า “เดิ่น” ภาษาท้องถิ่นหมายถึงลานกว้างนั่นเอง โดยในปีแรกได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องขยะในหมู่บ้าน สื่อสารให้ชุมชนช่วยกันรักษาความสะอาด และมีการทำกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การค้นหา “ขนมหูช้าง” ขนมโบราณมาสร้างอัตลักษณ์ทำให้คนภายนอกรู้จักชุมชนแห่งนี้มากขึ้น

ขนมหูช้าง เป็นขนมโบราณของคนตำบลดอน มีลักษณะเป็นแผ่นแป้งกลมๆ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนำไปนวดคลึงให้แบนบางกลมแล้วนำไปต้มด้วยน้ำร้อน ผึ่งแดดให้แห้งจากนั้นนำมาทอดด้วยน้ำมัน เวลารับประทานจะโรยด้วยน้ำตาลอ้อย ในหนึ่งปีจะทำกันเพียงครั้งเดียวเพื่อนำไปตกแต่งกัณฑ์เทศน์ถวายพระในงานเทศน์มหาชาติ แต่ปัจจุบันเด็กและเยาวชนตำบลดอนที่มาร่วมกิจกรรมกับสภาเด็กและเยาวชนฯ ต่างก็รู้จักและยังสามารถทำขนมชนิดนี้กินได้เองตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรอให้มีเทศกาลเทศน์มหาชาติ

ศิริกานต์ วงศ์ไตรรัตนกุล หนึ่งในแกนนำสภาเด็กและเยาวชนตำบลดอน เล่าประสบการณ์เข้ามาร่วมกิจกรรมว่าเมื่อตอนอายุ 9-10 ขวบ พ่อซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแนะนำให้มาร่วมกิจกรรมแบบไม่เต็มใจนัก แต่เมื่อมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ พบว่ามีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย และยังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อร่วมกิจกรรมบ่อยครั้งเข้าก็พัฒนาตนเองกลายเป็นแกนนำเยาวชน วางแผนร่วมกันทำกิจกรรม “เดิ่นดอนยิ้ม” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยร่วมกันสำรวจชุมชน 12 หมู่บ้านในตำบลดอนเพื่อค้นหาของดีในท้องถิ่น ทำแผนที่ชุมชนจนได้ข้อสรุปในการเลือกขนมหูช้าง ของดีในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือที่จะต่อยอดในการทำกิจกรรม

“เราได้ไปสำรวจชุมชนแต่ละชุมชน เรารู้แล้วว่าแต่ละชุมชนมีของดีอะไรบ้าง แต่ละหมู่บ้านมีอาหาร มีภูมิปัญญาอะไรให้แต่ละหมู่บ้าน มาแนะนำเสนอกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมาจบที่ขนมหูช้าง เพราะเรารู้สึกว่าขนมนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักเลย จึงไปค้นหาคำตอบพบว่ามีแค่เฉพาะอำเภอปักธงชัยอำเภอและอำเภอครบุรี ก็เลยมีการฝึกทำ มีผู้รู้มาสอน และยังได้นำไปเผยแพร่นอกหมู่บ้าน เช่น ในตัวเมืองโคราช และยังเคยนำไปให้คนจังหวัดเพชรบุรีได้ชิมด้วย ทุกคนบอกว่าไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกภูมิใจมากที่บ้านเราก็มีของดี และการการได้ทำกิจกรรมทำให้มีความมั่นใจกล้าแสดงออก สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ได้เป็นผู้นำพูดหน้าเสาธงของโรงเรียน และยังได้ทำประโยชน์ให้ชุมชนบ้านเกิดของตนเองด้วย ”

ขณะที่ กมลพรรณ โคตรจังหรีด กรรมการสภาเด็กและเยาวชน ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 6 จนปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยม โดยได้ร่วมกับเพื่อนใช้เวลาวันหยุดในการลงสำรวจชุมชน และจะขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์สืบต่อรุ่นพี่ที่ต้องออกไปเรียนในระดับอุดมศึกษา

“ปกติหนูไม่ค่อยพูดไม่ค่อยยิ้ม พอมาเข้าร่วมกิจกรรมพี่ๆชวนพูดคุย ก็ทำให้มีความมั่นใจพูดคุยมากขึ้นเวลานำเสนองานหน้าชั้นเรียนก็กล้าที่จะนำคนอื่นได้  พอได้มาเดินสำรวจหมู่บ้าน แต่ละที่ก็จะมีอาหารของแต่ละหมู่บ้านให้ไปชิม ได้รู้ว่ามีอะไรบ้าง ปกติหนูอยู่บ้านไม่รู้เลยว่าหมู่บ้านตัวเองมีอะไรบ้าง”

ทางด้าน จักรพงษ์ เปียนรัมย์ รองประธานสภา อบต.ดอน เห็นว่า กลไกของการพัฒนาท้องถิ่นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข การสื่อสารไปยังสมาชิกชุมชนยังมีข้อจำกัด และเห็นว่าถ้าต้องการสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถสื่อสารไปยังผู้ปกครองได้ง่ายกว่า

“เป้าหมายหลักของเราก็คืออยากให้ชุมชนมีสุขสภาวะและอยู่อย่างพอเพียง โดยเราให้การสนับสนุนเด็กๆ เต็มที่ เพื่อสืบสานและต่อยอดการทำงานต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ ใครเข้ามาหมู่บ้านนี้ก็จะได้รู้ว่าขนมหูช้างอยู่ในหมู่บ้านนี้ หรือต่อไปก็อาจนำภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านมาต่อยอดในเชิงธุรกิจเล็กๆ เพื่อสร้างรายได้เป็นกองทุนของสภาเด็กเพื่อนำไปทำกิจกรรมอื่นๆ” รองประธานสภา อบต.ดอน กล่าว

“ปัจจัยทำให้การดำเนินงานด้านเยาวชนของตำบลดอนประสบผลสำเร็จ เกิดขึ้นเพราะการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน ผ่านการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้เด็กๆ ให้ทักษะในด้านต่างๆ มีการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม โดยมีสื่อคือขนมหูช้างซึ่งเป็นปัญญาในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้ง 3 ส่วนในชุมชนให้เกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จ” ศุภากร แก้วทองคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ อบต.ดอน ระบุ

วันนี้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของตำบลดอนอย่าง “ขนมหูช้าง” จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ขนมทานเล่นในเทศกาลประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานความร่วมมือของทุกคนๆ ในตำบลดอนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนแห่งนี้ไปสู่การมีสุขภาวะอย่างพอเพียง.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ