การอ่าน : การพัฒนาศักยภาพมนุษย์
(การอ่าน : การพัฒนาศักยภาพมนุษย์)
(วัฒนธรรมเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ : วัฒนธรรมสร้างชาติ)
ฯลฯ
ตอนที่ ๑.
คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ
เด็กไทยชอบเกมคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือ
คนไทยไม่รักการอ่าน
นี่คือ ๒ ปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา
มันเกิดจากอะไรและจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
นี่คือสิ่งที่หลายๆ องค์กร ทั้งของรัฐและเอกชนต่างพยายามช่วยกันแก้ไขมากว่า ๑๐ ปีแล้ว แต่ทุกอย่างก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก ยิ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่แข่งของเราในการทำมาหากินอยู่ในทุกวันนี้ และประเทศที่คาดว่าอาจจะเป็นคู่แข่งของเราในอนาคต สิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จของเราก็ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลยิ่งนัก ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำก่อนที่จะเดินหน้าทุ่มเทเพื่อการแก้ปัญหาต่อไปก็คือการทบทวนปัญหาและสถานการณ์ของปัญหาใหม่โดยละเอียด ทบทวนยุทธศาสตร์และวิธีการที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันว่ายังสอดคล้องกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ และสามารถที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
ทำไมเด็กไทย และคนไทยจึงไม่ชอบอ่านหนังสือ
เดิมเรามองว่าการที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือเป็นเพราะเขามองไม่เห็นความสำคัญ มองไม่เห็นประโยชน์ของการอ่าน ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด จริงๆ แล้วทุกคนรู้ถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือ เห็นได้จากพ่อแม่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกที่ยังเป็นนักเรียน ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่อ่านหนังสือ ท่องตำหรับตำรา เพื่อที่จะสามารถสอบได้คะแนนดีๆ จบมาจะได้มีโอกาสหางานดีๆ ทำได้ ซึ่งหากวิเคราะห์ตรงนี้ให้ดี มันน่าจะหมายความว่าการอ่านสำหรับผู้ใหญ่ หรือคนที่เป็นพ่อแม่แล้วมันมีความหมายเพียงแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งในการเรียนหนังสือให้ได้ดีเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสืออีกต่อไป เหตุผลที่ช่วยสนับสนุนตรงนี้ก็คือ เมื่อเรียนจบและได้ทำงานแล้วคนไทยส่วนใหญ่ก็มักจะไม่อ่านหนังสืออีก หรืออ่านก็เพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น
สภาพการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่สามารถทำให้ผลผลิตของการศึกษากลายเป็นผลผลิตที่มองเห็นความจำเป็นของการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอ่านและการเรียนรู้เป็นเพียงบันไดเพื่อการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา เพื่อเป็นใบเบิกทางในการก้าวเข้าไปสู่การมีงานทำ
เมื่อผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่เห็นความจำเป็นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะไม่มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ปรากฏชัดแก่สายตาของเด็กรุ่นหลังๆ ก็คือการไม่อ่าน ซึ่งเด็กก็จะเกิดการซึมซับและลอกเลียนเอาพฤติกรรมเหล่านี้ไปเป็นพฤติกรรมของตัวเอง แม้ผู้ใหญ่จะพร่ำบ่นถึงความสำคัญของการอ่านมากเพียงใด มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กหันมาให้ความสำคัญกับการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่แสดงออกมานั้นมันสื่อเป็นนัยว่า “ไม่ต้องอ่านก็ได้ เพราะผู้ใหญ่ก็ยังไม่อ่านเลย”
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
ในทางจิตวิทยาเราพบว่า หากสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนและสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติมีความขัดแย้งกัน เด็กจะทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการค้นพบใหม่ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ นั่นคือการค้นพบเซลล์กระจกเงาในสมองของมนุษย์ การค้นพบนี้ทำให้เรารู้ว่าวิธีเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือการเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ พฤติกรรมทางสังคม ทักษะทางสังคม ทักษะทางภาษา ทักษะทางอาชีพ หรือแม้แต่ทักษะในการดำรงชีวิตประจำวันวัน เราต่างเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบทั้งสิ้น
การอ่านและการเรียนรู้คือพฤติกรรมหรือทักษะ ที่เป็นทั้งพฤติกรรมส่วนบุคคล และพฤติกรรมของสังคม ย่อมต้องเรียนรู้ผ่านการมีแบบอย่างให้เห็น ในเมื่อผู้ใหญ่ก็ไม่อ่านไม่เรียนรู้เสียแล้ว จะพร่ำบ่นพร่ำสอนอย่างไร มันก็จะไม่สามารถก่อให้บังเกิดผลใดๆ ขึ้นมา
เรื่องนี้คือปมที่สำคัญที่สุดของการส่งเสริมการอ่านในบ้านเรา เราช่วยกันรณรงค์ให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังแบเบาะมาหลายปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น แถมงานวิจัยบางชิ้นยังพบว่า แม้เด็กจะชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็กเล็ก แต่พอโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น เด็กกลับอ่านหนังสือน้อยลง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ ของเรา
ดังนั้นการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ การส่งเสริมให้วัยรุ่นรักการอ่านโดยการสร้างห้องสมุดที่ดึงดูดความสนใจหรือที่เราพยายามเรียกว่า “ห้องสมุดมีชีวิต”จึงไม่น่าจะพอเพียงสำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่านให้สัมฤทธ์ผลได้ การโน้มน้าวผู้ใหญ่ทุกคนให้หันมาอ่านหนังสือ หันมาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้กับตนเองอยู่ตลอด ทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ ทำให้การเรียนรู้คือสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขของทุกคนในสังคม วัตรปฏิบัติเช่นนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เด็กได้ลอกเลียน และเมื่อรวมกับวิธีการอื่นๆ ที่ได้ลงมือทำไปแล้วก็น่าที่จะทำให้สถานการณ์ของการแก้ไขปัญหาดีขึ้น
แรงดึงดูดของสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
คนญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นนักอ่านระดับต้นๆ ของโลก โดยดูได้จากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ บนรถไฟ รถประจำทางในญี่ปุ่น ภาพคนนั่ง ยืนอ่านหนังสือเป็นภาพที่เราพบเห็นจนชินตา แต่ไม่กี่ปีมานี้เองรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นต้องเร่งรณรงค์ส่งเสริมการอ่านอย่างขนานใหญ่ เพราะเขาพบว่าเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก สาเหตุเนื่องมาจากเกมคอมพิวเตอร์และ อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาดึงดูดความสนใจ และเวลาของพวกเขาไปจากหนังสือ
สำหรับประเทศไทย อัตราการอ่านหนังสือของเราต่ำกว่าของญี่ปุ่นอยู่มาก แต่อิทธิพลของเกมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตนั้นไม่แตกต่างกัน เผลอๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเราหลงไปเข้าใจผิดว่าเกมคอมพิวเตอร์คือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียใดๆ เราจึงส่งเสริมให้เด็กๆ ของเราเล่นเกมเหล่านี้โดยปราศจากการควบคุม สุดท้ายปัญหาเด็กติดเกมเลยกลายเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับบ้านเรา แน่นอนสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กของเรา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการอ่าน และการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้น เราต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเหล่านี้ด้วย
การกระจายหนังสือสู่ผู้อ่าน
ได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าการอ่านหนังสือไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต และยิ่งมาเจอกับสภาพที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่มีห้องสมุด ไม่มีร้านหนังสือที่สามารถซื้อหาหนังสือมาอ่านได้ด้วยราคาที่ไม่เป็นภาระมากนัก ก็ยิ่งทำให้อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยยิ่งน้อยลง
มีคนพูดว่าในบ้านเราถ้าหากจะหาซื้อเหล้าเบียร์มาดื่ม ซื้อบุหรี่มาสูบนั้น สามารถทำได้ง่ายกว่าการหาหนังสือพิมพ์สักฉบับมาอ่าน นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ ร้านขายหนังสือในบ้านเราจะมีก็เพียงในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดเท่านั้น ซึ่งหากนับรวมกันทั้งประเทศแล้วก็ไม่น่าจะเกิน ๑,๕๐๐ แห่ง เมื่อมาเปรียบเทียบกับคนจำนวน ๖๕ ล้านคนแล้ว ถือว่าน้อยมาก ลองคิดดูเล่นๆ ว่าหากมีใครสักคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งห่างจากตัวอำเภอเพียงแค่ ๒๐ กิโลเมตร วันดีคืนดีเขาอยากอ่านหนังสือสักเล่ม หรือหนังสือพิมพ์สักฉบับขึ้นมา สิ่งที่เขาจะต้องทำก็คือการหาทางเดินทางเข้าไปในอำเภอ จะด้วยพาหนะส่วนตัวหรือรถประจำทางก็ตามที เพื่อไปห้องสมุดหรือร้านขายหนังสือ เขาจำเป็นจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงเพื่อการนี้ และก็จะเกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เพียงแค่คิดก็คงพอจะได้คำตอบแล้วว่า เขายังอยากที่จะอ่านหนังสืออยู่อีกหรือไม่ ความไม่สะดวกในการเข้าถึงหนังสือและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นอุปสรรคอีกอันหนึ่งที่ขวางกั้นการรักการอ่านของผู้คนในสังคมไทย
รัฐบาลพยายามที่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงหนังสือของคนไทยให้มากขึ้น ด้วยการสร้างห้องสมุดประชาชนให้กระจายไปตามชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะห้องสมุดที่มีอยู่ก็มีเพียงแค่ในระดับอำเภอ ซึ่งปัญหาก็ไม่ต่างจากการกระจายตัวของร้านหนังสือ คือไกลเสียจนคนไม่อยากเดินทางมาใช้บริการ การสร้างที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านตามนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนก็สามารถสนับสนุนได้เพียงหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร และสิ่งพิมพ์เผยแพร่งานของทางราชการเพียงไม่กี่รายการ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้ประชาชนเกิดความสนใจใคร่ที่จะอ่านหรือค้นคว้าหาความรู้ให้กับตนเอง
ในส่วนขององค์กรท้องถิ่นที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่บทบาทของการสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เกิดความรูสึกรักการอ่าน หรือสนับสนุนให้เกิดแหล่งค้นคว้าหาความรู้ในท้องถิ่นได้ ส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป เพราะยังให้ความสำคัญอยู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และโครงสรางพื้นฐานกันอยู่
หนังสือดียังมีไม่เพียงพอ
ท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของผู้เขียนนวนิยายเรื่อง แฮรี่ พอร์ตเตอร์ หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกกันมาบ้างแล้ว จากคนฐานะธรรมดาๆ แถมออกจะจนด้วยซ้ำไปคนหนึ่ง แต่ด้วยหนังสือเพียงเล่มเดียวก็สามารถทำให้เธอกลายเป็นเศรษฐีในเวลาไม่กี่ปี เธอเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความสนุกสนานของหนังสือเล่มนี้ทำให้มันถูกนำไปแปลเป็นอีกไม่รู้กี่ภาษาเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก รายได้กลับมาสู่เธอเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เธอไม่ต้องพะวงกับเรื่องการทำมาหากิน เธอสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการค้นคว้าและสร้างผลงานต่อเนื่องได้อย่างเต็มที่ หนังสือเล่มต่อเนื่องของ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ จึงปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเล่มแล้วเล่มเล่า และก็ขายดีเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดเธอก็กลายเป็นเศรษฐีมีอันดับของโลกใบไป
การที่หนังสือสักเล่มจะขายได้ดีนั้นไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หากแต่เป็นจากคุณภาพของตัวหนังสือเอง นั่นก็หมายความว่าผู้เขียนจะต้องมีความรู้ที่ชัดแจ้ง มีจินตนาการ มีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือความรู้ต่างๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างมีเสน่ห์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝน ค้นคว้า ซึ่งก็หมายความว่าต้องอาศัยเวลาในการทำงานนั่นเอง และการที่นักเขียนจะทำแบบนี้ได้นั้นรายได้จากการเขียนหนังสือก็จะต้องมากพอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเขาเองในระหว่างการค้นคว้าข้อมูล และการเขียนหนังสือ ผู้เขียนหนังสือ แฮรี่ พอร์ตเตอร์ ใช้เวลาเป็นปีในการค้นคว้าเรียบเรียงและเขียนหนังสือแต่ละเล่ม โดยไม่ต้องพะวงกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองเลย รายได้จากการเขียนหนังสือเล่มก่อนๆ ทำให้เธออยู่ได้อย่างสบาย ดังนั้นหนังสือของเธอจึงมีคุณภาพ เมื่อมาอยู่ในตลาดสากลที่ใหญ่มากเพราะเป็นตลาดภาษาอังกฤษที่คนทั้งโลกใช้ ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนยิ่งมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้านอย่างยิ่งกับนักเขียนไทย หนังสือเรื่องหนึ่งหากขายได้เกินหนึ่งหมื่นเล่ม นักเขียนและสำนักพิมพ์ก็ดีใจกันจนแทบแย่แล้ว เพราะตลาดมันแคบ แถมคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสืออีกด้วย นักเขียนไทยจึงอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา โอกาสที่จะได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะได้ทำงานอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เกิดผลงานดีๆ จึงเป็นไปได้ยาก คำว่า“นักเขียนไส้แห้ง”จึงเป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับวงการนักเขียนไทย คนที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัวจึงมีน้อย เพราะต่างก็กลัวโรคไส้แห้งกัน โอกาสที่เราจะมีหนังสือดีๆ ในหลากหลายมิติ หลากหลายสาระให้เลือกอ่านจึงเป็นไปได้น้อย
คนไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะคิดว่ามันไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ทำให้หนังสือขายได้น้อย ทำให้คนเขียนหนังสือ คนพิมพ์หนังสือ คนขายหนังสือไม่กล้าลงทุนทำหนังสือ ไม่มีกำลังใจที่จะสร้างผลงาน เพราะกลัวขายหนังสือไม่ได้ ทำให้ปริมาณและคุณภาพของหนังสือลดลง ต้นทุนของหนังสือเพิ่มขึ้น หนังสือมีราคาแพง คนไม่กล้าซื้ออ่าน นี่คือวัฏจักรที่หมุนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบสิ้นในสังคมไทย การจะแก้ปัญหานิสัยไม่ชอบอ่านหนังสือของคนไทยให้ได้ผลจึงจะต้องมองปัญหาเหล่านี้ให้ทะลุ มองอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เราจึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
ตอนที่ ๒.
อ่านหนังสือแล้วได้อะไร
มีคนถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า ถ้าอยากให้เด็กโตขึ้นเป็นคนเก่งควรจะทำอย่างไร อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แนะนำว่าให้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง
คนถามคนเดิมถามซ้ำอีกว่าถ้าอยากให้เก่งแบบ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ล่ะจะต้องทำอย่างไร อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ตอบอีกว่าก็ให้อ่านหนังสือให้ฟังเยอะๆ
คำตอบแบบนี้ แน่นอนคงทำให้คนถามรู้สึกว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เล่นลิ้น เพราะตอนนั้นความเข้าใจในเรื่องการอ่านและความฉลาดของมนุษย์ยังมีไม่มาก แต่ก็คงได้แค่ “ฟัง”เพราะคนตอบคือนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล จะไปต่อล้อต่อเถียงด้วยคงลำบาก
แต่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยืนยันว่าคำตอบของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั้น เป็นจริง
การเรียนรู้ทำให้มนุษย์ฉลาด
“We are who we are because of what we have learned and remembered.”
นี่คือคำกล่าวของ นายแพทย์ อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จากผลงานการค้นคว้าวิจัยการทำงานของเซลล์สมองในเรื่อง “การเรียนรู้และความจำ”จนทำให้เรารู้ว่าเซลล์สมองของเราทำงานอย่างไรจึงทำให้เราเรียนรู้ และจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้
เขาพบว่าข้อมูลต่างๆ จากภายนอก เมื่อผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าเข้าไปในสมองของเรา จะกระตุ้นเซลล์สมองของเราให้เกิดการแตกกิ่งก้านออกมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจร วงจรที่ว่านี้จะทำให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้เราเกิดความรู้และความเข้าใจในข้อมูลที่เรารับผ่านทางประสาทสัมผัสเข้ามา นี่คือ “การเรียนรู้”ของเรา ความรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการเรียนรู้นี้ จะถูกเก็บไว้เป็น “ความจำ” ตรงบริเวณรอยเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นนี้เอง หากมีการเรียนรู้ในเรื่องเดิมเกิดขึ้นซ้ำๆ อีก รอยเชื่อมต่ออันนี้ก็จะมีความแข็งแรง มั่นคงขึ้น นั่นก็คือเราจะจำเรื่องนั้นได้ดี แต่หากการเรียนรู้นั้นๆ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง และถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการเรียนรู้แบบเดิมเกิดขึ้นอีกเป็นเวลานานๆ รอยเชื่อมต่อของเซลล์ก็จะสลายไป นั่นก็แปลว่าเราก็จะลืมเรื่องนั้นไป การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่มีความเกี่ยวโยงกับความรู้หรือความจำเดิมที่ถูกเก็บไว้ตรงบริเวณรอยเชื่อมต่อใดๆ ก็จะมีผลทำให้รอยเชื่อมต่อบริเวณนั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไป ความรู้และความจำที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ จะส่งผลต่อความคิด วิธีคิด ความฉลาด การใช้เหตุผล การตัดสินใจ และพฤติกรรมของคนเรา ซึ่งเขาได้สรุปไว้เป็นประโยคสั้นๆ ว่า
“การเรียนรู้ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้”
หรือ “We are who we are because of what we have learned and remembered.”
ดังที่ได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่แรก
ภาพวงจรของเซลล์สมอง
นอกจากนี้เขายังค้นพบว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ มีอิทธิพลเหนือยีนหรือพันธุกรรม นั่นก็แปลว่าการที่คนเราจะฉลาดหรือไม่นั้น ปัจจัยทางพันธุกรรมไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด ประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่เราได้รับต่างหากคือปัจจัยสำคัญ
ภาพแสดงรอยเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง
การค้นพบนี้ทำให้เราสามารถนำเอาความรู้ที่เคยมีอยู่แล้วหลายอย่างมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในเรื่องโมเดลการเรียนรู้ของมนุษย์ หรือ Information Processing Model
ภาพ การประมวลผลของสมอง (Information Processing Model)
จากแนวคิดของInformation Processing Model ดังในภาพ เราจะเห็นว่าข้อมูลที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้และความจำของเรานั้นถูกรับเข้ามาผ่านทางประสาทรับสัมผัสทั้งห้าของเรา เกิดกระบวนการวิเคราะห์ ตีความ สังเคราะห์ และกลายเป็นความรู้สำหรับเราในที่สุด
การอ่านหนังสือ การได้ลองทำ การได้เห็น การได้สัมผัส การได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ล้วนก่อให้เกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดความรู้ ความจำให้กับเราได้ทั้งสิ้น
เด็กได้อะไรจากการที่เรา “เล่านิทานอ่านหนังสือให้เขาฟัง”
หากท่านพิจารณาภาพต่อไปนี้ แล้วตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กบ้าง ท่านจะได้คำตอบว่าการที่เราเล่านิทาน อ่านหนังสือกับเด็ก
การที่เด็กได้นั่งอยู่บนตัก และภายในอ้อมแขนอันอบอุ่นของแม่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือเด็กจะรู้สึกถึงความรักที่แม่มีต่อเขา มันทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น เกิดความมั่นใจในตนเอง เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการของแม่ หรือพ่อซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อชีวิตเขา ความรู้สึกเช่นนี้จะนำไปสู่ความรู้สึกไว้วางใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว นี่คือพื้นฐานอันสำคัญของการก่อเกิดบุคลิกภาพที่สมบูรณ์เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เล่านิทาน อ่านหนังสือกับลูก
ความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ได้นั่งอยู่บนตักภายในอ้อมกอดของแม่ฟังแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะฝังตรึงอยู่ในความทรงจำของเด็กไปตลอด และด้วยความสุขที่ว่านี้แหละมันจะกลายเป็นแรงขับให้เด็กคนนี้เกิดความประทับใจในการอ่านหนังสือ เพราะการอ่านมันคือความสุข คือความทรงจำที่ฝังใจ สุดท้ายเขาจะกลายเป็นคนที่รักหนังสือ รักการอ่าน และรักการแสวงหาความรู้ไปตลอดชีวิต
การที่แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ลูกจะได้ยินเสียงอ่าน ได้มองเห็นภาพประกอบ ได้มองเห็นตัวอักษรที่เป็นสัญญลักษณ์เพื่อแทนภาพนั้นๆ สมองของเด็กจะทำหน้าที่เชื่อมต่อเสียงของแม่ ภาพที่มองเห็น รวมทั้งตัวอักขระที่ปรากฏอยู่เข้าด้วยกัน นี่คือการเกิดขึ้นของการรู้หนังสือ การเกิดภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาอ่าน และภาษาเขียนในคนเรา
เรื่องราว และเนื้อหาที่ปรากฎในหนังสือจะถูกสมองเก็บรายละเอียดต่างๆ เข้าไป ผ่านการอ่าน เกิดกระบวนการวิเคราะห์และตีความ สุดท้ายมันก็กลายเป็นความรู้ของเด็กไป ความรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว คุณธรรม จริยธรรม ประเพณีปฏิบัติ รูปแบบการดำเนินชีวิต ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความรู้ในตัวเด็ก ทั้งหมดคือกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน และความรู้ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็จะมีผลต่อความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมของเด็กต่อไป
การอ่านคือการเรียนรู้
ในขณะเดียวกันความงดงามของภาษาที่ใช้ในหนังสือ ความงามของภาพ ความงามของเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดความประทับใจ และนำไปสู่การพัฒนาจิตใจของเขาให้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในความงาม ความจริง และความดีของชีวิต
ผู้ใหญ่ได้อะไรจจากการเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
หากการสร้างสมาชิกรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพที่สมบูรณ์คือหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเรา “การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง”ก็คือเครื่องมือที่ช่วยให้ภาระกิจอันนี้ของเรามีความสมบูรณ์ขึ้น หากลูกหลานของเรารักการอ่าน รักที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อลูกหลานมีคุณภาพนั่นก็คือหลักประกันในอนาคตของเราเองหากถึงเวลาที่เราจะต้องพึ่งพาพวกเขา
การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทำให้เราได้ใกล้ชิดลูกมากขึ้น ทำให้ครอบครัวของเรามีความอบอุ่น
การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คือโอกาสที่ช่วยให้เราได้ฝึกฝนและกระตุ้นสมองของเราอยู่เสมอ สมองก็ไม่แตกต่างจากกล้ามเนื้อที่จำเป็นจะต้องใช้งานอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีการใช้งาน กล้ามเนื้อของเราก็จะฝ่อลีบ และสมองก็เช่นกัน การได้อ่านหนังสือและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกฟังทุกวันจึงเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นสมองของเราให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา
ขอขอบคุณที่มาจาก รักลูกกรุ๊ป